วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เพลงนิทานแผ่นดินNitarnpandin เพลงใหม่ล่าสุดเพื่อในหลวงของปวงชนชาวไทย

เพลงที่แสนไพเราะ นิทานแผ่นดินNitarnpandin เพลงใหม่ล่าสุดเพื่อในหลวงของปวงชนชาวไทย

เดือนธันวาคมลมหนาวเข้ามาเยือนแล้ว ใกล้ถึงวันพ่อ ๕ ธันวาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นศูนย์ดวงใจของปวงชนชาวไทย ผมใคร่ขออนุญาตินำเอาบทเพลงล่าสุดที่สร้างสรรค์โดยศิลปินหลายท่าน สร้างด้วยแรงบรรดาลใจเพื่อพระราชาผู้ยิ่งใหญ่แห่งสยามประเทศ (ดูเพลงเกี่ยวกับในหลวงของปีที่แล้ว) (ดูเพลงพระราชนิพนธ์ทีบรรเลงด้วยกีต้าร์คลาสสิก)

เพลงนิทานแผ่นดินNitarnpandin เพลงใหม่ล่าสุดเพื่อในหลวงของปวงชนชาวไทย


คำร้องทำนองโดย พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ขับร้องโดย ยืนยง โอภากุล, พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และวงดนตรี Usa Asli
MV ภาพแอนนิเมชั่นประกอบโดย URMUNDEE
เพลงน่าฟังมาก โดยเฉพาะการนำเอาดนตรีสากลประเภทออร์เคสต้า มาบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านไทยๆ เสียงร้องรับประกันคุณภาพทั้งสองศิลปิน เนื้อหาเพลงเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยจากอดีตจนปัจจุบัน

แอ็ดคาราบาวพูดถึงเพลง นิทานแผ่นดิน

รายละเอียดของเพลง
เป็นบทเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
เนื้อความของเพลงเริ่มจากยุคโบราณเมื่อเราเริ่มเกิดชุมชนในระดับ ‘บ้าน’ ขึ้น ก็ให้นึกภาพย้อนไปราว ต้นสุวรรณภูมิยุคบ้านเชียง จากการเป็นนักล่านักหาของป่าเร่ร่อนเริ่มเป็นชุมชนเกษตรกรรม ทํานา ปลูกไร่ ตอนนั้นผู้นําชุมชนเป็นผู้อาวุโสของหมู่บ้าน ก็เพราะรู้เรื่องต่างๆ ดีกว่าผู้อื่น คือรู้ฤดูกาล รู้พิธีกรรม รู้ผีรู้สาง (เดิมหมายถึงเทวดา) รู้ธรรมเนียม รู้ว่าจะทําสิ่งต่างๆ อย่างไร คือเป็นทั้งครูและผู้นํา เรียกกันว่า พ่อหมอแม่หมอ คําว่า หมอ แปลว่ารู้ชํานาญในการต่างๆ ตอนแรกชุมชนบุพกาลก็มีผู้หญิงเป็นใหญ่ ต่อมาก็เป็นผู้ชาย คุมบ้านเรียกว่า กวาน หรือ กว่าน เช่น กว่านบ้าน เป็นต้น ซึ่งต่อมา คํานี้กร่อนเป็นคําว่า ขุน นั่นเอง กว่านผู้เฒ่าก็เรียกว่า ปู่ แล้วก็เรียกเป็น ปู่จ้าว แล้วมีเรื่องเล่าเชื่อมโยง กับสางบนฟ้า ไต่กะไดลงมาจากเมืองฟ้า มาปกครอง ก็มีศักดิ์ชั้นเป็นจ้าวเป็นนาง ยกให้เหนือชุมชนเป็นผู้นํา ตายแล้วก็จะได้กลับไปอยู่กับสางหรือผีฟ้า ก็ยกให้เป็นผีบ้านเป็นเสื้อบ้าน เนื้อเพลงท่อนแรก ก็จะมีการใช้คําเก่าๆ แบบที่เห็นในเรื่องอย่าง นิทานปู่จ้าวลาวจก หรือ ท้าวฮุ่งขุนเจือง

จากชุมชนบ้านเมืองก็กลายเป็นนครรัฐ เป็นเขตแคว้นต่างๆ ให้นึกภาพถึงยุคฟูนัน จาม ปา ความรู้จากชมพูทวีปเข้ามา ศาสนาฮินดู-พุทธเข้ามา มีอาณาจักร ละโว้ ทวารวดี ศรีโพธิ อู่ทอง กัมพุช.. สําเภาพ่อค้าจากจีนจากเปอร์เซียจากอินเดียก็เริ่มเข้ามาค้าขาย นครรัฐก็เติบโตมั่งคั่ง ความต้องการแรงงานและทรัพยากรก็เพิ่มขึ้น ก็เริ่มมีสงคราม รุกรานกัน พ่อกว่านหรือขุนก็ต้องอาศัยคนหนุ่มเป็นนักรบแข็งแกร่ง จากที่มีผู้อาวุโสเป็นผู้นํา ก็เปลี่ยนเป็นนักรบแทน เพราะต้องเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อปกป้องดินแดนและไพร่บ้าน ขุนที่มีความสามารถและคุณธรรมก็ถูกยกย่องเป็นพ่อขุน คติเดิมที่อยู่อย่างครอบครัวโดยผู้อาวุโสยังอยู่ จาก ปู่ ก็มาเป็น พ่อ อยู่อย่างพ่อปกครองลูกก็เรียก พ่อขุน ราวพุทธศตวรรษ18 ศาสนาพุทธเข้ามาสู่สุโขทัย สุโขทัยหมายถึงอรุณรุ่งอันแสนสุข บ้านเมืองสงบสุขก็ เพราะพ่อขุนปกครองโดยพุทธธรรม นำคติธรรมราชาเข้ามาตอนนั้น ก็ด้วยอิทธิพลจากแนวคิดพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เมื่อรับพุทธศาสนาแล้วก็หยุดการสงครามที่ทำมายืดเยื้อยาวนานเสีย แล้วเปลี่ยนมาดำเนินในแนวคิดราชาธิราชหรือจักกวตติ (จักรวาทิน) แทน คือเป็นผู้จรรโลงธรรมและปกปักธรรมจักร (อาณาจักรธรรม) และพุทธศาสนา คนไทก็รู้จักคำว่าพระราชาในยุคนี้เอง คำว่า ราชา นั้นที่จริงไม่ได้หมายถึงเจ้าชีวิต ผู้เป็นใหญ่ หรืออะไรที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า King ของชาวตะวันตกแต่อย่างใดเลย ท่านพุทธทาสฯ บอกว่า ราชา แปลว่า พอใจ... ที่ประชาชนแซ่ซร้องว่า พระราชาๆ นั้น คือร้องว่าพอใจๆ ด้วยเหตุว่าพระราชามีทศพิธราชธรรมเป็นครรลองการปกครองอย่างอุดมคตินั่นเอง ต่อมาจึงเรียกว่าธรรมราชา เพราะทรงธรรมจึงเคารพเทอดทูนว่าเป็นพ่ออยู่หัว แล้วถึงมีคําว่าพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยถือว่าเป็นเจ้าของแผ่นดินแว่นแคว้นนั้น เหตุด้วยทุ่มชีวิตเข้าปกป้องอาณาจักรที่ได้สร้างขึ้นเป็นปึกแผ่นให้สงบร่มเย็นนั่นเอง

จากนั้นก็นึกภาพกาลเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป สู่ยุคสมัยต่างๆ จากสุโขทัย มาอยุธยา ข้าศึกมาประชิด บ้านเมืองผ่านเหตุการณ์ดีร้ายมากมาย แต่สยามประเทศก็ยังอยู่รอดมาได้ ด้วยเหตุที่บ้านเมืองยังมี พระเจ้าแผ่นดินทรงธรรมและบุรพกษัตริย์ผู้ปรีชาชาญอีกหลายพระองค์ ที่นําพาประเทศชาติให้อยู่รอดมาได้จนยังมีเมืองไทยที่ร่มเย็นอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน เราก็จะเห็นภาพพระนเรศวรที่กู้เมือง พระเจ้าตากสินที่กู้เมือง รัชกาลที่สี่ที่รับมือกับนักล่าอาณานิคมยุโรปตอนที่เรือรบมาปิดอ่าว รัชกาลที่ห้ากับ กุศโลบายของท่าน ก็อยู่รอดมาได้เช่นนี้

ท่อนสุดท้ายก็มาถึงยุคปัจจุบัน ตอนนี้ภาษาเปลี่ยนให้ใหม่ขึ้น ผมใช้คําอย่างเช่น ไทยบุรี ที่คนยุค ขุนวิจิตรมาตราหรือจอมพล ป. ใช้กัน ก็เปลี่ยนการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ที่ซึ่งยุคนี้พระเจ้าอยู่หัวนั้นไม่ได้ปกครองแผ่นดินอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นรัฐบาลที่เป็นนักปกครองจากประชาชนแทน ถ้าเป็นที่ อื่นๆ อย่างเช่นยุโรป คิง หรือ ควีน ก็ทําแต่พิธีการที่เป็นขนบโบราณเพื่อรักษาจารีตโบราณที่สวยงาม ไว้เท่านั้น ไม่ได้ออกไปทํางานเพื่อพสกนิกรในชาติอีกต่อไป แต่เป็นบุญสําหรับคนไทยเหลือเกิน ที่ สวรรค์ยังประทานพระมหากษัตริย์ที่ทรงธรรมเหมือนในอุดมคติมาให้พวกเราอีก แม้ว่าที่จริง พระองค์ท่านไม่ต้องทําอะไรก็ได้ แต่ตลอดรัชสมัยตั้งแต่ทรงครองราชย์เป็นต้นมา ท่านก็ทรงทํางานอย่างหนักเพื่อปวงชนชาวไทยได้อยู่อย่างร่มเย็นมาตลอดเวลา ดังที่ท่านได้ลั่นวาจาไว้และสมกับที่พระราชชนนีของท่านได้ทรงตรัสไว้ว่าทรงตั้งชื่อให้ว่า ภูมิพล ก็เพราะต้องการให้อยู่กับดิน ให้เป็นพลังของแผ่นดิน.. และพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ท่านก็ทรงทําเช่นนั้นเสมอมาคืออยู่กับดิน ดังพระกรณียกิจที่เราเห็นกันมาตั้งแต่ยังเด็กๆ และที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือพระองค์ท่านไม่เคยวางพระองค์เป็น ‘พระเจ้า’ อยู่เหนือ ‘แผ่นดิน’ เลย ด้วยเหตุนี้เอง ประชาชนชาวไทยทั้งชาติจึงรักพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้

ข้อมูลเนื้อหาของเพลงจาก nitarnpandin.org
ชมเพลงใหม่อีกเพลง Love Eternally บทเพลงเพื่อพ่อ ที่ถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อสะท้อนมุมมองและความประทับใจของคนต่างชาติที่มีต่อ ในหลวงของเรา
เพลงนิทานแผ่นดินNitarnpandin เพลงใหม่ล่าสุดเพื่อในหลวงของปวงชนชาวไทย

ไม่มีความคิดเห็น: